ข้อมูลงานวิจัย โครงการนำร่องการลดอุบัติเหตุทางจราจรบนถนนสำหรับเมืองน่าอยู่ด้วยนวัตกรรมรถยนต์แจ้งเตือนความเร็วพลวัต

ข้อมูลส่วนตัว
    • ชื่อ-นามสกุล (ภาษาไทย)รศ.ดร.พุทธพล ทองอินทร์ดำ
    • ชื่อ-นามสกุล (ภาษาอังกฤษ)รศ.ดร.Pootapol Tongindum
    • ตำแหน่งทางวิชาการ-
    • ตำแหน่งปัจจุบันรองศาสตราจารย์
    • คณะ/หน่วยงานคณะวิศวกรรมศาสตร์
    • โทรศัพท์0826446XXX
    • E-Mail Addresputtapon.t@en.rmutt.ac.th
    • สาขาวิชาการที่มีความชำนาญวิศวกรรมโยธา
    อัพเดทล่าสุด
    09 ก.ย. 2566
    00089
    จำนวนคนดู
ข้อมูลโครงการงานวิจัย
ชื่อโครงการ โครงการนำร่องการลดอุบัติเหตุทางจราจรบนถนนสำหรับเมืองน่าอยู่ด้วยนวัตกรรมรถยนต์แจ้งเตือนความเร็วพลวัต
ชื่อโครงการภาษาอังกฤษ Pilot Project for Reduction of Road Traffic Accidents in Livable Cities Using Innovative Dynamic Speed Display Vehicle
หน่วยงาน
หัวหน้าโครงการ
ผู้ร่วมวิจัย 1. ผศ.ปราชญ์ อัศวนรากุล
พี่เลี้ยง
ที่ปรึกษา
ปีงบประมาณ 2564
คำสำคัญ ระบบแจ้งความเร็วแบบพลวัต ระบบวิเคราะห์ป้ายทะเบียนอัตโนมัติ อุบัติเหตุจราจรบนถนน เขตกำหนดความเร็วในชุมชน
ผลลัพธ์
บทคัดย่อ (ภาษาไทย)
บทคัดย่อ (ภาษาอังกฤษ)
หลักการและเหตุผล ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาประเทศไทยติดอันดับกลุ่มสูงสุดของโลกที่ประสบปัญหาการสูญเสียทรัพย์สินและชีวิตที่ประเมินค่ามิได้จากอุบัติเหตุจำนวนมากบนท้องถนน ซึ่งอุบัติที่รุนแรงส่วนใหญ่มีสาเหตุหลักมาจากการขับขี่โดยใช้ความเร็วที่ไม่เหมาะสม โดยสภาพปัจจุบันในหัวเมืองใหญ่และถนนสายหลักในประเทศไทยหลายแห่ง ได้เริ่มมีการนำเทคโนโลยี เช่น ป้ายแจ้งเตือนความเร็วแบบพลวัต (Dynamic Speed Display Sign) และระบบวิเคราะห์ป้ายทะเบียนอัตโนมัติ (Automatic License Plate Recognition: ALPR) เข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่กลับพบว่าหน่วยงานในจังหวัดขนาดเล็กหรือในชุมชนขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งถนนสายย่อยต่างๆ ยังต้องเผชิญกับความสูญเสียของชีวิตและทรัพย์สินอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการติดตั้งเครื่องมือที่ทันสมัยดังกล่าวในทุกตำแหน่งจุดเสี่ยงภัยจราจรให้ครบถ้วนนั้นต้องใช้งบประมาณสูง ความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยีนี้ส่งผลให้ความคุณภาพชีวิตของผู้ใช้ถนนในชุมชนอยู่ในภาวะเสี่ยง และทำให้ความเป็นเมืองน่าอยู่ของชุมชนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โครงการนำร่องการลดอุบัติเหตุทางจราจรบนถนนสำหรับเมืองน่าอยู่ด้วยนวัตกรรมรถยนต์แจ้งเตือนความเร็วแบบพลวัต มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อศึกษาแนวทางการประยุกต์ใช้ “ป้ายแจ้งเตือนความเร็วแบบเคลื่อนที่” ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ผู้ยื่นขอทุนวิจัยได้ประดิษฐ์ขึ้นเสร็จเรียบร้อย และอยู่ระหว่างขอรับอนุสิทธิบัตร และอยู่ระหว่างการพัฒนาต่อเนื่องเป็น “รถยนต์แจ้งเตือนความเร็วแบบพลวัต” ซึ่งติดตั้งป้ายสัญญาณขนาดใหญ่บนหลังคารถ ที่สามารถตรวจจับและแจ้งเตือนความเร็ว รวมทั้งวิเคราะห์ป้ายทะเบียนของยานพาหนะแต่ละคันบนท้องถนนได้ เพื่อโน้มน้าวให้ผู้ที่ใช้ความเร็วเกินกำหนด ลดความเร็วก่อนถึงจุดเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และศึกษาพฤติกรรมการทำซ้ำของรถยนต์ทุกคันที่ฝ่าฝืนความเร็วที่กำหนด คุณลักษณะดังกล่าวทำให้นวัตกรรมนี้มีจุดเด่นที่สำคัญยิ่ง และแตกต่างจากป้ายแจ้งเตือนความเร็วทั่วไป คือ สามารถเปลี่ยนทิศทางการปฏิบัติงาน พับเก็บ และเคลื่อนย้ายตำแหน่งปฏิบัติการได้ทันที สะดวกและรวดเร็วเท่ากับการย้ายตำแหน่งจอดรถ ซึ่งออกแบบให้ทำงานร่วมกับวิเคราะห์ป้ายทะเบียนของรถยนต์คันที่ใช้ความเร็วเกินพิกัด นอกจากนั้นป้ายเตือนความเร็วบนหลังคารถยนต์ ยังเพิ่มแรงกระตุ้นให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะมีแนวโน้มที่จะลดความเร็วมากกว่า เนื่องจากสร้างความรู้สึกเกี่ยวโยงถึงเจ้าหน้าที่ผู้ซึ่งอาจประจำอยู่ในรถยนต์ แตกต่างจากกรณีติดตั้งป้ายบนเสาหรือโครงสร้างถาวรที่พบเห็นทั่วไป ความสะดวกในการเคลื่อนย้ายตำแหน่งปฏิบัติการดังกล่าวสอดคล้องกับผลวิจัยที่พบว่า ป้ายแจ้งเตือนความเร็วแบบพลวัตจะมีอิทธิพลสูงมากต่อผู้ขับขี่ในสัปดาห์แรกของการติดตั้ง และลดอิทธิพลลงเรื่อยตามระดับความเคยชิน ดังนั้นการเคลื่อนย้ายตำแหน่งปฏิบัติการจากจุดเสี่ยงหนึ่งไปยังจุดเสี่ยงอื่นในชุมชนจึงสามารถทำได้โดยง่ายและทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งสามารถประยุกต์ใช้กับพื้นที่หรือบริเวณที่ต้องการควบคุมความเร็วแบบชั่วคราว เช่น บริเวณก่อนถึงโครงการก่อสร้างหรือซ่อมบำรุงบนผิวจราจร หรือตำแหน่งก่อนถึงบริเวณพื้นที่จัดงานกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนที่มีความหนาแน่นของผู้คน นวัตกรรมนี้ทำให้ประหยัดงบประมาณลงได้มากเนื่องจากเครื่องมือชุดเดียวสามารถเวียนใช้ได้หลายพื้นที่และตามความเหมาะสม โดยผลลัพธ์ของโครงการวิจัยนี้ จะทำให้ได้แนวทางที่เหมาะสมในการประยุกต์ใช้รถยนต์แจ้งเตือนความเร็วแบบพลวัตดังกล่าว เช่น ทราบอิทธิพลที่มีต่อพฤติกรรมการขับขี่ของคนในชุมชน ประสิทธิภาพในการลดความเร็วในแต่ละช่วงเวลา ทราบพฤติกรรมการฝ่าฝืนความเร็วซ้ำซ้อนของกลุ่มผู้ใช้ยานพาหนะ ความเหมาะสมของการเวียนตำแหน่งปฏิบัติการ แนวทางการพัฒนารถยนต์และป้ายสัญญาณรวมทั้งระบบป้ายจราจรประกอบ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้สามารถใช้งานนวัตกรรมดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้อุบัติเหตุบนท้องถนนในชุมชนลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญและทั่วถึง ส่งผลให้ประชากรในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์เมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) พ.ศ. 2563 – 2570 โดยโครงการวิจัยนี้มีหลักการและเหตุผลดังนี้ เนื่องจากเป็นที่ทราบดีว่าอุบัติเหตุบนท้องถนนก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินแก่ประชาชนไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งเห็นได้จากภาพการรายงานข่าวเป็นประจำทุกวันเกี่ยวกับความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุทางถนน ดังแสดงตัวอย่างในรูปที่ 1 โดยตัวเลขความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนนนี้ยังเป็นดัชนีชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ปัญหาคุณภาพการบริหารจัดการความปลอดภัยรวมทั้งคุณภาพชีวิตของประชาชนบนท้องถนนในประเทศไทยควรได้รับการศึกษาวิจัยและพัฒนามากขึ้น รูปที่ 1 ภาพข่าวอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่สร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน จากคำกล่าวข้างต้นสามารถตอกย้ำความเด่นชัดได้จากรายงานสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนในช่วงที่ผ่านมา เช่น ในปี 2558 โดยองค์การอนามัยโลกพบว่า ประเทศไทยมีอันตราการเสียชีวิต 36.2 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน ซึ่งสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยการเสียชีวิตทั้งโลกมากกว่า 2 เท่า (17.4 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน) และมากกว่า 4 เท่าเมื่อเทียบกับทวีปยุโรป ดังแสดงในรูปที่ 2 และจากการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในประเทศ พบว่ามีการเกิดอุบัติเหตุจํานวน 83,093 ราย ในปี 2553 หลังจากนั้นมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย จนถึงปี 2558 อัตราการเกิดอุบัติเหตุมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง จนกระทั่งในปี 2562 เกิดขึ้น 99,479 ราย สําหรับความสูญเสียจากการเกิดอุบัติเหตุดังกล่าวพบว่า มีผู้สูญเสียชีวิตจํานวน 8,673 คน ดังแสดงในรูปที่ 3 ซึ่งยอดจำนวนตัวเลขนี้ตอกย้ำว่าเป็นตัวเลขที่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งความสูญเสียทางชีวิตนั้นย่อมประเมินค่ามิได้และจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีมาตรการควบคุม ป้องกัน และบังคับใช้ รวมทั้งมาตรการชักจูงและโน้มน้าวที่เหมาะสม รูปที่ 2 อัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก รูปที่ 3 สถิติการเกิดอุบัติเหตุจราจรทางถนนของประเทศไทย ในอีกด้านหนึ่งเมื่อพิจารณาถึงมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ก็สามารถพิจารณาจากตัวอย่างการประเมินของกรมทางหลวงได้ว่า อุบัติเหตุบนทางหลวงในปี พ.ศ. 2562 ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเฉพาะทรัพย์สินของกรมทางหลวงจำนวนมาก โดยประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในหลายประเทศทั่วโลกที่ยังคงใช้การคมนาคมขนส่งทางรถยนต์เป็นหมวดหลักในการขนส่งสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม และคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ต้องเผชิญหน้ากับผลกระทบจากอุบัติเหตุจราจรอย่างหนัก ด้วยเหตุนี้ทำให้รัฐบาลต้องยกปัญหาดังกล่าวเป็นวาระแห่งชาติ โดยกำหนดให้ปี พ.ศ.2554 -2563 เป็น “ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน” (Decade of Action for Road Safety) โดยมีเป้าหมาย คือ ลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลงในอัตราที่ต่ำกว่า 10 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน โดยจากสถิติอุบัติเหตุจราจรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติดังแสดงในรูปที่ 4 พบว่าสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ 5 อันดับแรก ได้แก่ ขับรถเร็วเกินอัตราที่กำหนด ตัดหน้ากระชั้นชิด แซงรถผิดกฎหมาย เมาสุรา และ ตามกระชั้นชิด ดังแสดงในรูปที่ 4 โดยมีจำนวนมากกว่าหนึ่งในสามของสาเหตุอุบัติเหตุทั้งหมด (39.5%) รูปที่ 4 สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย จากข้อมูลที่แสดงข้างต้นชี้ชัดว่าปัญหาด้านการใช้ความเร็วที่ไม่เหมาะสม เป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุจำนวนมากในประเทศไทยและส่วนใหญ่มีความรุนแรง ดังนั้นการให้ความสำคัญกับการบริหารการใช้ความเร็ว (Speed management) บนถนนทั้งโครงข่ายสายทางหลักและโครงข่ายสายทางรองในท้องถิ่นต่างๆ จึงมีความสำคัญมาก โดยเครื่องมือชนิดหนึ่งที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเพื่อสร้างแนวโน้มแรงจูงใจการขับขี่ด้วยความเร็วที่เหมาะสม คือ ป้ายแจ้งความเร็วแบบพลวัต (Dynamic Speed Display Sign, DSDS) ดังแสดงในรูปที่ 5 ซึ่งได้มีการใช้งานมาเป็นระยะเวลานานในหลายประเทศในทวีปยุโรปและอเมริกา โดยมีการศึกษาวิจัยและกำหนดมาตรฐานการติดตั้งและงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สำหรับในประเทศไทยในปัจจุบันได้มีหลายหน่วยงานหลักด้านการจราจรของภาครัฐ เช่น กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท เริ่มให้ความสำคัญและนำเครื่องมือดังกล่าวมาติดตั้งบนทางหลวงในหลายจุด ดังตัวอย่างที่แสดงในรูปที่ 6 แต่พบว่าโครงข่ายถนนสายรองหรือสายย่อยในชุมชนเมืองซึ่งมีอุบัติเหตุจำนวนมากเช่นกัน กลับไม่สามารถจัดหาเครื่องมือดังกล่าวได้เนื่องจากติดขัดปัญหาด้านงบประมาณ รูปที่ 5 รูปแบบของป้ายแจ้งความเร็วแบบพลวัต (Dynamic Speed Display Sign, DSDS) รูปที่ 6 ป้ายแจ้งเตือนความเร็วแบบพลวัตที่ติดตั้งตามถนนหลวงในประเทศไทย ในขณะที่อีกด้านหนึ่งมีรายงานงานวิจัยในต่างประเทศ พบว่าป้ายแจ้งเตือนความเร็วแบบพลวัตสามารถช่วยลดความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงสายหลักได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากผู้ใช้ทางส่วนใหญ่ไม่คุ้นชินกับตำแหน่งป้ายสัญญาณและไม่ทราบบทลงโทษที่อาจตามมาภายหลัง แตกต่างกับป้ายแจ้งเตือนความเร็วแบบพลวัตที่ติดตั้งในเมืองขนาดเล็กหรือชุมชน จะมีอิทธิพลต่อการลดความเร็วเฉพาะในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก และอิทฺธิพลนี้จะลดลงตามระยะเวลาและระดับความเคยชินของผู้ใช้ทางในชุมชนนั้น ดังนั้นการนำนวัตกรรม “ป้ายแจ้งเตือนความเร็วแบบเคลื่อนที่” มาพัฒนาต่อเนื่องเพื่อสร้างเป็นนวัตกรรมใหม่คือ “รถยนต์แจ้งเตือนความเร็วแบบพลวัต” (Dynamic Speed Display-Vehicle) ดังแสดงในรูปที่ 7 จึงสามารถตอบโจทย์ปัญหาที่กล่าวถึงข้างต้นได้หลายแง่มุม เช่น ไม่ต้องเสียเวลาในการติดตั้งประจำสถานีใดๆ และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและความคุ้มค่าของเครื่องมือ โดยการเปลี่ยนทิศทางการทำงานโดยไม่ต้องขยับรถยนต์ สามารถเคลื่อนย้ายตำแหน่งปฏิบัติการจากจุดเสี่ยงหนึ่งไปยังจุดเสี่ยงอื่นในชุมชนได้โดยง่าย รวมทั้งสามารถประยุกต์ใช้กับพื้นที่หรือบริเวณที่ต้องการควบคุมความเร็วแบบชั่วคราว เช่น บริเวณก่อนถึงโครงการก่อสร้างหรือซ่อมบำรุงบนผิวจราจร หรือตำแหน่งก่อนถึงบริเวณพื้นที่จัดงานกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนที่มีความหนาแน่นของผู้คน นอกจากนั้นในโครงการวิจัยนี้ยังทำการออกแบบเพิ่มเติมให้รถยนต์แจ้งเตือนความเร็วพลวัตทำงานควบคู่กับระบบวิเคราะห์ป้ายทะเบียนอัตโนมัติ (Automatic License Plate Recognition: ALPR) ซึ่งจะบันทึกป้ายทะเบียนรถยนต์ทุกคันที่ใช้ความเร็วเกินพิกัด ทำให้ได้ข้อมูลที่มีประโยชน์อย่างมากในการวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้ความเร็วของผู้ขับขี่ในชุมชน เช่น การศึกษาพฤติกรรมความซ้ำซ้อนของผู้ฝ่าฝืนความเร็ว เป็นต้น ดังนั้นวัตกรรมชุดนี้ทำให้ประหยัดงบประมาณลงได้มากเนื่องจากเครื่องมือชุดเดียวสามารถเวียนใช้ได้หลายพื้นที่และตามความเหมาะสม ในขณะที่ทีมนักวิจัยกำลังมุ่งพัฒนาชุดเครื่องมือและอุปกรณ์ของ “รถยนต์แจ้งเตือนความเร็วแบบพลวัต” เพื่อให้ใช้งานได้อย่างดีในสภาพแวดล้อมจริง แต่เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นใหม่ จึงยังไม่มีมาตรฐานหรือแนวปฏิบัติที่เหมาะสม ดังนั้นจึงยังคงมีประเด็นชุดคำถามที่ต้องทำการศึกษา ค้นคว้า และวิจัยทดสอบเกี่ยวกับแนวทางในภาคปฏิบัติเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้เครื่องมือดังกล่าวให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของโครงข่ายถนนในชุมชนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด (Best practice) ซึ่งเป็นชุดคำถามของโครงการนำร่องนี้ ได้แก่ รถยนต์แจ้งเตือนความเร็วแบบพลวัตสร้างผลกระทบต่อพฤติกรรมของผู้ขับขี่ยานพาหนะแต่ละประเภทในชุมชนอย่างไร มีประสิทธิภาพการลดความเร็วยานพหานะของแต่ละสภาพถนนเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร รูปแบบการเคลื่อนที่ปฏิบัติงานที่เหมาะสมของแต่ละจุดเสี่ยงควรเป็นอย่างไร แนวปฏิบัติสำหรับพื้นที่ลดความเร็วชั่วคราวควรเป็นอย่างไร เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้ให้สามารถลดจำนวนและความรุนแรงของการสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในชุมชน อันจะนำไปสู่สภาพชุมชนเมืองน่าอยู่ และลดความเหลื่อมทางเทคโนโลยี และบรรลุเป้าหมายของทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทยต่อไป รูปที่ 7 นวัตกรรม “รถยนต์แจ้งเตือนความเร็วแบบพลวัต” ที่กำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่องจาก “ป้ายแจ้งเตือนความเร็วแบบเคลื่อนที่” โดยทีมนักวิจัยโครงการฯ นี้ มทร.ธัญบุรี
วัตถุประสงค์ 1. เพื่อให้ทราบผลกระทบของการประยุกต์ใช้นวัตกรรมรถยนต์แจ้งเตือนความเร็วแบบพลวัตที่มีต่อพฤติกรรมของผู้ขับขี่ยานพาหนะแต่ละประเภทในชุมชนหรือเมืองขนาดเล็ก 2. เพื่อให้ทราบประสิทธิภาพของการทำงานร่วมกันระหว่างป้ายแจ้งเตือนความเร็วพลวัต (DSDS) และระบบวิเคราะห์ป้ายทะเบียนอัตโนมัติ (ALPR) บนสภาพทางกายภาพและสิ่งแวดล้อมของถนนที่แตกต่างกัน 3. เพื่อให้ทราบรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับการเวียนสถานีปฏิบัติงานระหว่างแต่ละจุดเสี่ยงภัยทางจราจรของโครงข่ายถนนในชุมชน 4. เพื่อให้ทราบแนวปฏิบัติสำหรับพื้นที่ลดความเร็วชั่วคราว เช่น โครงการก่อสร้างบนผิวจราจร เป็นต้น 5. เพื่อยกระดับเทคโนโลยีด้านการบริหารการใช้ความเร็วของผู้ขับขี่ยานพาหนะในชุมชน 6. เพื่อถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีให้กับหน่วยงานผู้รับผิดชอบดูแลอำนวยความปลอดภัยของผู้ใช้ทางในท้องถิ่น หรือชุมชนเมืองขนาดเล็กเพื่อลดจำนวนและความรุนแรงของอุบัติเหตุทางถนน