ข้อมูลงานวิจัย การพัฒนาทักษะการอ่านเชิงวิชาการของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ด้วยรูปแบบการเรียนการสอนแบบผสมผสาน ตามแนวทฤษฎีการสอนภาษาแบบอรรถฐานและ E-learning

ข้อมูลส่วนตัว
    • ชื่อ-นามสกุล (ภาษาไทย)ผศ.กนกวรรณ ดาบส
    • ชื่อ-นามสกุล (ภาษาอังกฤษ)ผศ.Kanokwan Darboth
    • ตำแหน่งทางวิชาการผู้ช่วยศาสตราจารย์
    • ตำแหน่งปัจจุบันผู้ช่วยศาสตราจารย์
    • คณะ/หน่วยงานคณะศิลปศาสตร์
    • โทรศัพท์0825876XXX
    • E-Mail Addresjeabkanokwan@gmail.com
    • สาขาวิชาการที่มีความชำนาญมีความสามารถด้านภาษาต่างประเทศอื่นๆ เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน และจีน ญี่ปุ่นได้เล็กน้อย
    อัพเดทล่าสุด
    09 ก.ย. 2566
    00121
    จำนวนคนดู
ข้อมูลโครงการงานวิจัย
ชื่อโครงการ การพัฒนาทักษะการอ่านเชิงวิชาการของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ด้วยรูปแบบการเรียนการสอนแบบผสมผสาน ตามแนวทฤษฎีการสอนภาษาแบบอรรถฐานและ E-learning
ชื่อโครงการภาษาอังกฤษ The Development of Online Lessons Using Blended Learning: Genre Based Approach and E-Learning to Enhance English Critical Reading Ability of RMUTT Students
หน่วยงาน
หัวหน้าโครงการ ผศ.กนกวรรณ ดาบส
ผู้ร่วมวิจัย
พี่เลี้ยง
ที่ปรึกษา
ปีงบประมาณ 2564
คำสำคัญ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
ผลลัพธ์
บทคัดย่อ (ภาษาไทย)
บทคัดย่อ (ภาษาอังกฤษ)
หลักการและเหตุผล ในปัจจุบันการเรียนภาษาต่างประเทศมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อชีวิตประจำวัน ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากลภาษาหนึ่งที่ใช้เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารในการเจรจาต่อรองทางด้านการค้า การประกอบอาชีพ การศึกษาเพื่อแสวงหาความรู้ การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมและวิสัยทัศน์ของชุมชนของโลก การตระหนักถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมและมุมมองของสังคมโลกนำมาซึ่งมิตรไมตรีและความร่วมมือระหว่างประเทศ (กรมวิชาการ, 2546, หน้า 1) ด้วยเหตุผลและความสำคัญดังกล่าว ภาษาอังกฤษจึงเป็นภาษาต่างประเทศที่ทุกสาขาวิชาและทุกคณะในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีได้บรรจุไว้ในหมวดวิชาการศึกษาทั่วไป ในกลุ่มวิชาภาษาและการสื่อสารในทุกหลักสูตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีที่สำคัญประการหนึ่ง คือ ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีจะต้องมีความรู้ความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษในระดับที่ใช้ในการปฏิบัติงานได้ การจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทยในปัจจุบัน เป็นการจัดการเรียนการสอนตามแนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร (Communicative Approach) ซึ่งเป็นการจัดการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Learner-Centered) ให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเรียนรู้อย่างเต็มความสามารถตามความถนัดและคำนึงถึงความเหมาะสมและความแตกต่างระหว่างบุคคล ให้ผู้เรียนได้มีโอกาสฝึกใช้ภาษาอังกฤษในสถานการณ์ต่าง ๆ และสามารถนำไปใช้ในได้จริงในชีวิตประจำวัน มีการวัดและการประเมินผลตามสภาพจริง (Authentic Assessment) การเรียนการสอนในปัจจุบัน จึงไม่เน้นเฉพาะรูปแบบหรือโครงสร้างทางภาษาเท่านั้น แต่จะเน้นให้ผู้เรียนสามารถสื่อสารได้และนำไปใช้ได้จริง ซึ่งได้จากการจัดการเรียนการสอนที่เรียนรู้จากสถานการณ์จริง (Real Situation) และมีลักษณะในการจัดการเรียนการสอนที่เป็นการบูรณาการทักษะทางภาษาเข้าด้วยกัน ซึ่งเรียกว่า บูรณาการทั้ง 4 ทักษะ (Integrated 4 Skills) โดยมีจุดมุ่งหมายให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนทักษะทางภาษาทั้ง 4 ทักษะ คือ การฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน เพื่อให้สามารถนำความรู้ทางภาษาเหล่านี้นำไปใช้เพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับสภาพสังคมและวัฒนธรรม รวมทั้งให้เป็นผู้มีเจตคติที่ดีต่อการเรียนภาษาต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง และมีวิสัยทัศน์ก้าวไกลมีความมั่นใจในการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารในสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อประกอบอาชีพและการแสวงหาความรู้เพื่อศึกษาในระดับสูงขึ้นต่อไป (กระทรวงศึกษาธิการ, 2546, หน้า 1) ทักษะการเรียนภาษามี 4 ทักษะ คือ ทักษะการฟัง ทักษะการพูด ทักษะการอ่าน และทักษะการเขียน ทักษะที่รับรู้ข้อมูลและองค์ความรู้ต่าง ๆ (Receptive Skills) คือ ทักษะการฟังและการอ่าน และทักษะที่สร้างข้อมูลและส่งสารองค์ความรู้ต่าง ๆ (Productive Skills) คือ ทักษะการพูดและการเขียน อย่างไรก็ตามทักษะการฟังเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญอันดับแรกของการเรียนรู้ภาษา ดังแนวคิดของดูเลย์ เบิร์ทและแครชเชิ้น (Dulay, Burt and Kranshen, 1982, p. 6) ที่กล่าวว่า ผู้เรียนจะอยู่ช่วงการเรียนรู้ภาษาโดยการฟังแบบเงียบ ๆ เป็นเวลาหลายเดือนในช่วงแรกที่เริ่มเรียนรู้ภาษาใหม่ตามสภาพแวดล้อมโดยธรรมชาติ และทักษะการฟังจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาทักษะทางด้านการพูดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง (Krashen & Terrell, 1983, p. 2) นอกจากนี้ทักษะการฟังและทักษะการพูดยังเป็นกลไกเบื้องต้นในการสื่อสารของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในสังคมที่ไม่มีภาษาเขียน และสื่อสารด้วยวัจนภาษา (Verbal Language) รวมทั้งอวัจนภาษา (Non-Verbal Language) ดังนั้นจึงพอสรุปได้ว่าทักษะการฟังและทักษะการพูดเป็นทักษะที่สำคัญและจำเป็นมากในการติดต่อสื่อสารของมนุษย์ แม้ว่าแนวการสอนภาษาอังกฤษในปัจจุบันจะเป็นแนวการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารเพื่อให้ผู้เรียนสามารถสื่อสารได้ เท่าที่ผ่านมาผลสัมฤทธิ์ในการเรียนภาษาอังกฤษของนักเรียน นักศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถทางด้านทักษะการฟังและการพูดภาษาอังกฤษของนักเรียน นักศึกษายังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน จากผลการวิจัยความสามารถในการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารของนักศึกษาโปรแกรมวิชาภาษาอังกฤษชั้นปีที่ 4 ในสถาบันราชภัฏเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ศิริลักษณ์ เค้าสิม, 2547, หน้า 36-39) พบว่า มีนักศึกษาเพียงแค่ร้อยละ 2.8 ที่มีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร อยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 23.6 มีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร อยู่ในระดับค่อนข้างอ่อน ร้อยละ 32.4 มีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร อยู่ในระดับอ่อน ร้อยละ 41.1 มีความสามารถ ในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร อยู่ในระดับอ่อนมาก นอกจากนั้นนักศึกษายังไม่สามารถสื่อสารกับชาวต่างชาติให้เข้าใจได้ หรือไม่เช่นนั้นก็ใช้ภาษาที่ไม่เป็นที่นิยมใช้สำหรับเจ้าของภาษา แม้จะถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ก็ตาม (สุมิตรา อังวัฒนกุล, 2539, หน้า 42) ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของศรีเงิน แพสุพัฒน์ (2541, หน้า 58) และศิริเพ็ญ มากบุญ (2541, หน้า 55-56) ที่กล่าวว่า ความสามารถทางภาษาในด้านการฟัง-พูด รวมทั้งการสนทนาภาษาอังกฤษของนักศึกษาอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ แม้ว่านักเรียน นิสิต นักศึกษาจะเรียนภาษาอังกฤษมาแล้วกว่า 10 ปีก็ยังไม่สามารถนำความรู้ภาษาอังกฤษมาใช้ในการสื่อสารได้ อีกทั้งทิฆัมพร สุวรรณประทีป (2537, หน้า 2-3) ยังพบว่า นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาเมื่อไปประกอบอาชีพไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารได้ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของเรณู ดวงมณี (2546, หน้า 1) ที่กล่าวว่า ความสามารถในด้านการฟังและการพูดของนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ยังไม่เป็นที่น่าพอใจและยังไม่ถึงขั้นสื่อสารได้ นักศึกษายังไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารกับผู้สอนและเพื่อนร่วมชั้น หรือแม้กระทั่งไม่สามารถรายงานหน้าชั้นเรียนได้ สาเหตุอาจเนื่องมาจากการจัดการเรียนการสอนของครูที่เป็นการสอนแบบปกติซึ่งยึดครูเป็นศูนย์กลาง (Teacher-Centered) โดยมีการวัดและการประเมินผล ที่เป็นการวัดความรู้ ความจำ เน้นกฎไวยากรณ์ จึงส่งผลให้ผู้เรียนไม่มีความสนใจต่อการเรียนวิชาภาษาอังกฤษและมีเจตคติที่ไม่ดีต่อการเรียนวิชาภาษาอังกฤษเพราะไม่เห็นความสำคัญของภาษาอังกฤษและเห็นว่าการเรียนการสอนภาษาอังกฤษไม่น่าสนใจ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ผู้สอนจะต้องทำให้ผู้เรียนมีเจตคติที่ดีต่อภาษาอังกฤษโดยวิธีการจัดการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในชั้นเรียนระหว่างครูกับนักเรียน และระหว่างนักเรียนกับนักเรียน เพื่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ในชั้นเรียน (Classroom Interaction) เพราะการมีเจตคติที่ดีเป็นองค์ประกอบเบื้องต้นที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่จะช่วยให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จในการเรียนภาษาอังกฤษ ในการจัดการเรียนการสอน ผู้สอนควรการจัดการเรียนการสอนที่มีกิจกรรมและภาระงานที่ส่งเสริมให้นักเรียนได้ฝึกทักษะการฟังและการอ่าน กิจกรรมอ่านออนไลน์เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจในการช่วยฝึกและพัฒนาทักษะการอ่านภาษาอังกฤษเป็นการเรียนรู้จากสื่อเอกสารจริง (Authentic Materials) และเป็นเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในสังคม เป็นสิ่งที่ใกล้ตัวผู้เรียนจึงช่วยให้ผู้เรียนมีความสนใจที่จะเรียนรู้ อีกทั้งในปัจจุบันมีการนำเสนอข่าวภาคภาษาอังกฤษจากสถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์ และจากข่าวหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ ต่าง ๆ ที่ผู้เรียนสามารถเข้าไปเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง(Self Access) และสามารถวัดและประเมินผลได้ด้วยตนเอง (Self Assessment) หากผู้เรียนรู้รูปแบบ วัตถุประสงค์ และอรรถลักษณะของข่าวจะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจข่าวได้รวดเร็วขึ้นและจะมีเจตคติที่ดีต่อการเรียนภาษาอังกฤษมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยในระดับอุดมศึกษาของสานิตย์ วิโรจะ (2551, หน้า 99-105) ที่ได้ศึกษาความสามารถในด้านการฟัง-พูดและเจตคติต่อการเรียนวิชาภาษาอังกฤษของนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงชั้นปีที่ 1 โรงเรียนเทคโนโลยีธนบุรีบริหารธุรกิจที่ได้รับการสอนตามแนวทฤษฎีการสอนภาษาแบบอรรถฐานโดยใช้อรรถลักษณะของหนังสือพิมพ์ ผลการวิจัยพบว่า นักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงชั้นปีที่ 1 โรงเรียนเทคโนโลยีธนบุรีบริหารธุรกิจ ที่ได้รับการสอนตามแนวทฤษฎีการสอนภาษาแบบอรรถฐานโดยใช้อรรถลักษณะของหนังสือพิมพ์ มีความสามารถในด้านการฟัง-พูดและเจตคติต่อการเรียนวิชาภาษาอังกฤษหลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มีปรัชญาและวัตถุประสงค์เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถทางภาษาอังกฤษ และมีทักษะทางด้านการสอนวิชาภาษาอังกฤษในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและเมื่อบัณฑิตสำเร็จการศึกษาแล้วสามารถเลือกประกอบอาชีพได้หลายสาขา เช่น ล่าม นักวิชาการศึกษา นักแปล และนักเขียน เป็นต้น หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิตจึงได้ดำเนินนโยบายจัดการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถ ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารในสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันและในการทำงานได้จริง เพื่อให้มีความรู้ทางภาษาอังกฤษดีและสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดี เพื่อให้สามารถผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการของสังคมที่จะเป็นกำลังสำคัญของชาติ และสามารถศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายวิชาการอ่านเชิงวิเคราะห์เป็นหนึ่งในรายวิชาบังคับใน รายวิชาบังคับวิชาเอก ที่นักศึกษา สาขาวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารต้องลงทะเบียนเรียน ในฐานะที่ผู้วิจัยเป็นผู้สอนรายวิชา ผู้วิจัยจึงได้ศึกษาหลักการ แนวคิด ทฤษฎี เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับวิธีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเพื่อพัฒนาความสามารถในด้านทักษะการอ่านภาษาอังกฤษของนักศึกษา ซึ่งมีอยู่หลายวิธีด้วยกันและพบว่าหนึ่งในวิธีการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Learner-Centered) และตรงตามแนวการสอนภาษาอังกฤษในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร (Communicative Approach) คือ วิธีสอนตามแนวทฤษฎีการสอนภาษาแบบอรรถฐาน (Genre-Based Approach) ที่เน้นการจัดกิจกรรมเป็นปัจจัยป้อนที่สำคัญ และครูผู้สอนเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) ที่ยึดหลักทฤษฎีภาษาศาสตร์เชิงระบบ (Systematic Linguistics Theory) ของเอ็ม เอ เค ฮอลลิเดย์ (M.A.K. Halliday) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์ อ้างถึงในเสาวลักษณ์ รัตนวิชช์ (2531, หน้า 24-25) การสอนตามแนวทฤษฎีการสอนภาษาแบบอรรถฐาน ที่เน้นการใช้ภาษาเพื่อสื่อเนื้อความ (Text) ตามอรรถลักษณะ (Genre) รวมทั้งบริบททางวัฒนธรรม แนวการสอนตามทฤษฎีนี้เป็นการใช้คำศัพท์ในแต่ละสถานะของผู้สื่อความ เรียกว่า ทำเนียบภาษา (Register) การจัดการเรียนการสอนตามทฤษฎีนี้ผู้สอนใช้เนื้อความแต่ละอรรถลักษณะ ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนทางภาษาซึ่งเป็นตัวป้อนที่สามารถเข้าใจอย่างชัดเจน เพราะวิธีการสอนนี้ได้ครอบคลุมรูปแบบภาษาทั้งหมด เช่น เสียง คำศัพท์ ไวยากรณ์ และความหมายซึ่งทำให้รับรู้เรื่องราวได้อย่างชัดเจน การเรียนการสอนภาษาอังกฤษตามแนวทฤษฎีการสอนภาษานี้ช่วยให้ผู้เรียนมีโอกาสฝึกทักษะด้านการฟัง-พูดภาษาอังกฤษมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของสงวนศรี โทรอค (2547, หน้า 99-101) ได้ศึกษาเปรียบเทียบความเข้าใจในการอ่านภาษาอังกฤษและเจตคติในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่ได้รับการสอนด้วยวิธีการสอนตามแนวทฤษฎีการสอนภาษาแบบอรรถฐานโดยใช้อรรถลักษณะการเล่านิทาน (Narrative Genre) การรายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์ (News Report Genre) และการอธิบาย (Explanation Genre) กับวิธีการสอนแบบเดิม ผลการวิจัยพบว่า นักเรียนที่ได้รับการสอนด้วยวิธีการสอนตามแนวทฤษฎีการสอนภาษาแบบอรรถฐานมีความเข้าใจในการอ่านภาษาอังกฤษ และเจตคติต่อการเรียนวิชาภาษาอังกฤษสูงกว่านักเรียนที่ได้รับการสอนแบบเดิม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และยังได้เสนอแนะว่าควรจะนำวิธีการสอนตามแนวทฤษฎี การสอนภาษาแบบอรรถฐานโดยใช้อรรถลักษณะการเล่านิทาน (Narrative Genre) การรายงานข่าว จากหนังสือพิมพ์ (News Report Genre) และการอธิบาย (Explanation Genre) ไปทำการวิจัยเพื่อพัฒนาทักษะทางด้านอื่น ๆ ต่อไปทั้งในด้านการพัฒนาทักษะการฟัง-พูด และการเขียน (Blended Learning) เป็นหนึ่งในแนวทางที่เหมาะสมในการเสริมความรู้จากการเรียนการสอนปกติ(Throne, 2003 : 91) สร้างแนวทางให้กับผู้เรียนในการนําไปจัดการความรู้แบบผสมผสานด้วยตัวเอง มีการเรียนรู้จากสื่อประกอบการสอนหลากหลายรูปแบบบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยผู้เรียนสามารถที่จะฝึกฝน และทบทวนความรู้ได้ด้วยตัวเอง จากแบบฝึกหัด แบบฝึกอ่านแบบทดสอบย่อย แบบทดสอบหลังเรียน ซึ่งสามารถศึกษาได้ก่อนล่วงหน้าหรือทบทวนเสริมภายหลังการเข้าเรียนในชั้นเรียนปกติเป็นการเสริมประกอบกับสิ่งที่เรียนรู้เพื่อเพิ่มความเข้าใจให้มากขึ้น หากเมื่อไม่เข้าใจหรือต้องการทบทวนความรู้ซ้ำก็สามารถที่จะทําการศึกษาศึกษาเพิ่มเติมจากสื่อได้ตลอดเวลา ดังนั้นผู้วิจัยจึงสนใจที่จะทำการวิจัยเพื่อพัฒนาบทเรียนออนไลน์ ด้วยรูปแบบการเรียนแบบผสมผสาน ตามแนวทฤษฎีการสอนภาษาแบบอรรถฐานและการเรียนออนไลน์เพื่อพัฒนาความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษเชิงวิเคราะห์ของนักศึกษาสาขาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ที่ได้รับการสอนบทเรียนออนไลน์ ด้วยรูปแบบการเรียนแบบผสมผสาน ตามแนวทฤษฎีการสอนภาษาแบบอรรถฐานและการเรียนออนไลน์ ซึ่งวิธีการสอนตามแนวทฤษฎีการสอนภาษาแบบอรรถฐาน (Genre-Based Approach) หมายถึง การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นการจัดกิจกรรมเป็นปัจจัยป้อนที่สำคัญ โดยมีขั้นตอนในการสอน 5 ขั้น ดังนี้ ขั้นที่ 1 แจ้งจุดประสงค์และให้รูปแบบอรรถลักษณะของเอกสารที่อ่าน ขั้นที่ 2 เรียนรู้คำศัพท์ ทำงานคู่ (Pair Work) ขั้นที่ 3 ทำงานกลุ่ม (Group Work) ขั้นที่ 4 ทำงานเดี่ยว (Individual Work) ทำงานเดี่ยว แยกข้อมูลข้อเท็จจริง และความคิดเห็น และ ตีความ สรุปความ และขั้นที่ 5 ทำงานกลุ่ม (Group Work) นำเสนองานกลุ่ม ที่ได้ร่วมกันวิเคราะห์ อภิปรายแยกข้อมูลข้อเท็จจริง และความคิดเห็น และ ตีความ สรุปความ และวิเคราะห์แหล่งข้อมูล หน่วยงาน และบุคคลที่น่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล และผสมผสานการการเรียนออนไลน์ เพื่อเป็นการส่งเสริมการเรียนการสอนในชั้นเรียนปกติให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อันได้มาซึ่งผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน และความพึงพอใจของนักศึกษาในการเรียนรู้จากสื่อประกอบการสอน จากการศึกษาข้อมูลพบว่า การเรียนรู้แบบผสมผสาน
วัตถุประสงค์ 1. เพื่อพัฒนาบทเรียนออนไลน์ ด้วยรูปแบบการเรียนแบบผสมผสาน ตามแนวทฤษฎีการสอนภาษาแบบอรรถฐานและการเรียนออนไลน์ 2. เพื่อศึกษาความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษเชิงวิเคราะห์ของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ด้วยรูปแบบการเรียนแบบผสมผสาน ตามแนวทฤษฎีการสอนภาษาแบบอรรถฐานและการเรียนออนไลน์ 3. เพื่อศึกษาเจตคติของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีที่มีต่อการเรียนภาษาอังกฤษด้วยรูปแบบการเรียนแบบผสมผสาน ตามแนวทฤษฎีการสอนภาษาแบบอรรถฐานและการเรียนออนไลน์